นิโคลัส เมนก็อท โฆษกฟีฟ่า เผยคณะกรรมการผู้ตัดสินเตรียมพิจารณาการทำหน้าที่ของ โคมัน คูลิบาลี่ เชิ้ตดำชาวมาลี หลังจากเป่าผิดพลาดในเกมระหว่าง สหรัฐฯ กับ สโลวีเนีย ในวันจันทร์นี้ ก่อนจะมีการตัดสินใจว่าจะให้ทำหน้าที่ในศึกเวิลด์ คัพ ต่อไปหรือไม่
นิโคลัส เมนก็อท โฆษกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ออกมาเปิดเผยว่าคณะกรรมการผู้ตัดสินจะมีการลงความเห็นเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ โคมัน คูลิบาลี่ กรรมการชาวมาลี ในวันจันทร์ที่ 21 มิ.ย.นี้ หลังจากมีการตัดสินค้านสายตาหลายจังหวะ ในเกมที่ สหรัฐฯ เสมอ สโลวีเนีย 2-2 ในศึกฟุตบอลโลก 2010 นัดที่ 2 กลุ่ม บี เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เมนก็อท ระบุว่า ฟีฟ่า จะไม่มีการถกเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ คูลิบาลี่ จนกว่าจะถึงการนัดประชุมในวันจันทร์นี้ ที่ผู้ตัดสินฟุตบอลโลก 30 คน รวมถึงสมาชิกคณะกรรมการผู้ตัดสินฟีฟ่า จะพบกับสื่อ พร้อมกับเผยอีกว่า คณะกรรมการยังไม่มีการตกลงว่าจะมีผู้ตัดสินคนใดถูกตัดส่งกลับบ้านก่อนทัวร์นาเมนต์สิ้นสุดหรือไม่
โฆษก ฟีฟ่า กล่าวว่า "นี่เป็นการตัดสินใจที่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้ตัดสิน" และเมื่อถูกถามว่า ฟีฟ่า จะมีการประเมินผลงานของ คูลิบาลี่ ในเกมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาหรือไม่ เมนก็อท ตอบเพียงว่า "เราจะไม่ให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับผู้ตัดสิน"
เชิ้ตดำชาวมาลี ลงทำหน้าที่เกมฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก หลังจากผ่านการทำหน้าที่ในศึกแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลังจากปฏิเสธให้ลูกยิงในช่วงท้ายเกมของมัวริซ เอดู กองกลางทีมชาติสหรัฐฯ เป็นประตู และไม่ระบุว่าผู้เล่นคนใดทำฟาวล์ในจังหวะดังกล่าว ส่งผลให้ขุนพล "พญาอินทรี" พลาดโอกาสคว้าชัยอย่างน่าเสียดาย
ทั้งนี้ ในศึกเวิลด์ คัพ 2006 ที่เยอรมัน คณะกรรมการผู้ตัดสิน ฟีฟ่า ตัดสินใจเก็บกรรมการไว้ 12 คนสำหรับรอบก่อนรองชนะเลิศเป็นต้นไป และส่ง 11 คนที่เหลือกลับบ้าน หลังจากพิจารณาผลงานในเกมที่ลงทำหน้าที่ตัดสิน
ปี | ชนะเสิศ | รองชนะเสิศ | อันดับ 3 |
2006 | อิตาลี | ฝรั่งเศส | เยอรมนี |
2002 | บราซิล | เยอรมนี | ตุรกี |
1998 | ฝรั่งเศส | บราซิล | โครเอเชีย |
1994 | บราซิล | อิตาลี | สวีเดน |
1990 | เยอรมนี | อาร์เจนตินา | อิตาลี |
1986 | อาร์เจนตินา | เยอรมนี | ฝรั่งเศส |
1982 | อิตาลี | เยอรมนี | โปแลนด์ |
1978 | อาร์เจนตินา | ฮอล์แลนด์ | บราซิล |
1974 | เยอรมนี | ฮอล์แลนด์ | โปแลนด์ |
1970 | บราซิล | อิตาลี | เยอรมนี |
1966 | อังกฤษ | เยอรมนี | โปรตุเกส |
1962 | บราซิล | เชโกสโลวาเกีย | ชิลี |
1958 | บราซิล | สวีเดน | ฝรั่งเศส |
1954 | เยอรมนี | ฮังการี | ออสเตรีย |
1950 | อุรุกวัย | บราซิล | สวีเดน |
1938 | อิตาลี | ฮังการี | บราซิล |
1934 | อิตาลี | เชโกสโลวาเกีย | เยอรมนี |
1930 | อุรุกวัย | อาร์เจนตินา | อเมริกา |